Light Painting การถ่ายภาพเขียนไฟ

เทคนิคการถ่าย Light Painting


สวัสดีนักถ่ายภาพทุกท่านครับ...
วันนี้ผมจะชวนมาดูเทคนิคถ่ายภาพที่เรียกว่า Light Painting กันนะครับ มันก็คือการวาดหรือแต้มสีในภาพด้วยแสง เป็นเทคนิคสร้างภาพถ่ายอันแปลกตาชนิดที่เรียกว่า มองด้วยตาเปล่าไม่เห็น ตอนถ่ายไม่รู้ว่าภาพจะออกมามีหน้าตาอย่างไร ต้องเสร็จเป็นภาพออกมาแล้วจึงจะเห็น นี่แหละครับเสน่ห์ของเทคนิคนี้

Light Painting ใช้เทคนิคการถ่ายภาพโดยเปิดชัตเตอร์เป็นระยะเวลาหลายๆวินาที และมีการเคลื่อนไหวของแหล่งแสงในภาพ เช่น ไฟฉาย ดอกไม้ไฟ หรือแหล่งแสงอื่นๆ ทำให้ภาพที่ได้ เกิดเป็นเส้นสายของแสงสว่าง สีสันสวยงาม เป็นลวดลายหรือตัวอักษร 

  
 













ภาพแบบนี้ นี่ แหละครับที่เขาเรียกว่า Light Painting ต่อไปเรามาดูกันว่า วิธีการถ่ายภาพให้ได้แบบนี้ ต้องทำอย่างไรกันบ้าง ก่อนอื่นอุปกรณ์ที่ต้องเตรียมก็ได้แก่

1. กล้องถ่ายภาพที่สามารถถ่ายโหมดชัตเตอร์ B ได้ หรือกล้องที่สามารถเปิดชัตเตอร์ได้ต่ำกว่าปกติ เช่น 15 วินาที หรือ 30 วินาที
2. ขาตั้งกล้อง
3. ไฟฉายหรือแหล่งกำเนิดแสงอื่นๆ

เข้าสู่ขั้นตอนกันเลยครับ

1. ควรถ่ายในสถานที่มืด หรือสถานที่กลางแจ้งในเวลากลางคืน ใช้ขาตั้งกล้องเพื่อช่วยให้ภาพไม่สั่นไหว

2. ให้เลือกใช้โหมด Manual (M) นะครับ จึงจะใช้โหมดชัตเตอร์ B ได้ นักถ่ายภาพบางคนจะสงสัยว่าทำไมกล้องตัวเองถึงไม่มีโหมดชัตเตอร์ B นั่นอาจเป็นเพราะคุณยังไม่ได้เลือกใช้โหมด Manual (M) ครับ

3. ตั้งค่า ISO 100 เปิดรูรับแสง F 11 เป็นค่ากลางไว้ก่อนครับ

4. ปรับชัตเตอร์สปีดให้เป็นโหมดชัตเตอร์ B (หมุนไปทางชัตเตอร์สปีดช้าจนสุด) โหมด B หรือ Bulb นี้ เป็นโหมดถ่ายภาพที่เราสามารถเปิดชัตเตอร์ค้างไว้ได้ตามใจเราว่าอยากจะให้นาน แค่ไหนตราบจนเราจะปล่อยมือจากปุ่ม พูดง่ายๆ คือพอกดก็คือเริ่มถ่าย เมื่อปล่อยก็จะหยุดถ่าย และถ้าใช้โหมดชัตเตอร์ B กล้องจะไม่วัดแสงให้นะครับ เราต้องกะเอาเองครับ

5. ใช้ Manual Focus ครับ ก่อนถ่ายเราอาจจะมองไม่ตัวบุคคล อาจจะใช้ไฟฉายช่วงส่องดูเพื่อหาจุดโฟกัส และดูด้วยว่าเฟรมภาพของเราดีแล้วหรือยัง มีอะไรหลุดเฟรมหรือไม่

6. ซักซ้อมการเคลื่อนไหวกันให้ดี เพื่อดูว่าน่าจะใช้เวลาประมาณกี่วินาที แล้วลองถ่ายภาพด้วยระยะเวลาที่น่าจะเกิดขึ้น โดยยังไม่ต้องทำการเคลื่อนไหวไฟฉายหรือแสงจริงๆ ทั้งนี้ก็เพื่อจะเช็คดูว่า แสงของบรรยากาศแวดล้อมสว่างหรือมืดเกินไปหรือไม่ ถ้ามืดเกินไปก็ลองเพิ่มหน้ากล้องให้กว้างขึ้น ถ้าสว่างเกินไปก็ลองลดหน้ากล้องให้แคบลง

จากนั้นก็ลองถ่ายจริงเลยครับ...

ถ้าเป็นการถ่ายภาพด้วยกล้องฟิล์มในอดีต การเล่นเทคนิคนี้ดูจะเป็นการเสี่ยงและสิ้นเปลืองจนนักถ่ายภาพหลายคนไม่กล้า ลอง แต่ทุกวันนี้เราใช้กล้องดิจิทัลกันแล้ว ก็น่าลองนำไปเล่นกันดูนะครับ วันนี้ผมก็หวังว่าเทคนิคนี้จะทำให้นักถ่ายภาพทุกท่าน สนุกกับการถ่ายภาพมากขึ้นอีกนิด ไม่มากก็น้อยนะครับ ขอขอบคุณภาพประกอบสวยๆ จากอินเทอร์เนตครับ สวัสดีครับ


บทความดี ๆ โดย  www.chillpainai.com  โดย  ลุงแว่น ราชครู


0 comments: